“ล็อกซเล่ย์” ชูนวัตกรรม “ขยะอาหาร” ตอบโจทย์ใหญ่ด้วยกลไกเล็กๆ

23 February 2024

"ขยะอาหาร" หรือ "ขยะจากอาหาร" มาจากการกินเหลือของแต่ละคน และเศษอาหารที่เหลือจากขั้นตอนการผลิต หรือแม้แต่ปรุงอาหาร ซึ่งมีปริมาณมากในแต่ละวันโดยขยะอาหารต่างจากขยะทั่วไป เพราะเน่าเสียง่าย เป็นแหล่งอาหาร หนู แมลงสาป ที่เป็นพาหะนำโรคต่างๆ ข้อเสียเหล่านี้ยังไม่นับรวมเรื่อง "กลิ่น" และ "ภาพที่ไม่น่ามอง" ซึ่งพบเห็นได้แม้ในพื้นที่ใจกลางเมืองหรูหรา ทันสมัย

พิเศษ ดิศวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มสายธุรกิจเน็ตเวิร์คโซลูชั่นส์ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) เล่าว่า การจัดการขยะอาหารมีรูปแบบหลักๆคือการฝั่งกลบ หรือ นำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ ซึ่งวิธีการแบบนี้จะมีค่าใช้จ่ายด้านการขนส่ง และกระบวนการจัดการต่างๆ ซึ่งในต่างประเทศถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก นำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมระบบบำบัดขยะอาหารแบบครบวงจร (Food Waste Total Recycling Solution) ซึ่งมีต้นกำเนิดที่ “ฮ่องกง”

“ค่าใช้จ่ายการขนส่งขยะอาหารในแต่ละวันที่ฮ่องกงมีราคาสูงมาก การส่งเสริมจากรัฐและนวัตกรรมใหม่ๆทำให้การจัดการปัญหาเป็นระบบและได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สำหรับประเทศไทยแม้ค่าขนส่งขยะจะไม่สูงแต่การจัดการกำจัดขยะอาหารด้วยวิธีนี้จะทำให้องค์กรต่างๆในไทยเข้าใกล้คำว่าความยั่งยืนได้อีก”

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืนไม่เพียงการทำเพื่อดูแลสังคมโดยรวมซึ่งจะเป็นประโยชน์กลับมายังองค์กรและหน่วยธุรกิจนั้นๆแต่ยังจะได้ประโยชน์ในเชิงภาพลักษณ์และการจัดการเงื่อนไขทางการค้าและธุรกิจในอนาคต ซึ่งต้องมีแนวทางการลดการปลดปล่อยคาร์บอนที่ชัดเจนและพิสูจน์ได้ ดังนั้นระบบกำจัดขยะอาหารนี้มีกลไกที่สามารถสร้างคาร์บอนเครดิต ทั้งในรูปแบบการนำไปผลิตเป็น

กระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด หรือ การไม่ปล่อยของเสียจากระบบ (Zero Discharge) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะขยะอาหารหากจัดการไม่ถูกวิธีจะเกิดก๊าซเรือนกระจก เช่น มีเทน

ก่อนอื่น ขออธิบายหลักการทำงานของ ระบบบำบัดขยะอาหารแบบครบวงจรเริ่มจากขยะเศษอาหาร ซึ่งเป็นขยะอินทรีย์ที่ก่อเกิดมลภาวะได้ง่ายหากไม่บำบัดในถูกวิธี ทำให้บริษัทAEL(International Holdings) Ltd. Hongkong ได้คิดค้นและพัฒนาระบบบำบัดขยะอาหาร แบบครบวงจร โดยแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน Pre และ Post Treatment ซึ่งการบำบัดขั้นสุดท้ายจะได้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ เช่น ไบโอก๊าซ น้ำมัน และกากอาหารโปรตีนสูง

สำหรับระบบบำบัดเบื้องต้น หรือ Pre -Treatment ใช้หลักการ Food TranSmarter คือการนำขยะเศษอาหารจากแหล่งกำเนิดขนาดใหญ่ เช่น ร้านอาหาร/ภัตราคาร โรงอาหาร Food court ลำเลียงใส่ในถังขยะขนาดมาตรฐาน 240 ลิตร จากนั้นนำมาเทลงในถังปฎิกรณ์ (reator) ภายในถังปฎิกรณ์ จะมีใบกวาดเพื่อคลุกเศษอาหารให้เข้ากันภายใต้อุณหภูมิความชื้นและระยะเวลาที่พอเหมาะ ขยะเศษอาหารจะถูกบำบัดโดยกระบวนการทางกลและชีววิทยา(Mechanical and Biological Treatment) จนกลายสภาพเป็นของเหลว (slurry) จะถูกเก็บไว้ในถังเพื่อรอการขนถ่ายไปบำบัดต่อไป

สำหรับของเหลวนี้มีคุณสมบัติเป็นสารอาหารที่ดีสำหรับแบคทีเรีย เป็นสารตั้งต้น (Feed stock) ในการผลิตไบโอก๊าซ ในกระบวนการ Anaerobic Difestion (AD)

จากขั้นตอนการทำงานในขั้น Pre นี้จะช่วยลดการปนเปื้อนขยะอาหารกับขยะอื่นๆในกระบวนการขนถ่าย ลดภาระการเก็บ/การบำบัด/การคัดแยกขยะ ที่ปลายทาง ทำให้โรงงานคัดแยก/บำบัด ขยะปลายทางมีประสิทธิภาพดีขึ้น

นอกจากนี้ จะช่วยลดปัญหาเรื่องกลิ่น การหมักหมมของขยะอาหารต้นทาง เมื่อไม่มีรถมาเก็บทันเวลา เนื่องจากเมื่อขยะอาหารผ่านการบำบัดเบื้องต้นจนกลายสภาพเป็นของเหลวแล้วสามารถเก็บกักในถังปิดได้ 3-7 วัน ในส่วน Slurry สามารถเป็นสารตั้งต้นของกระบวนการผลิตไบโอก๊าซที่ดี

อย่างไรก็ตาม ระบบนี้ใช้พื้นที่ติดตั้งน้อยมาก ซึ่งระบบขนาด 1,000 กิโลกรัม/วัน ใช้พื้นที่เพียง 30 ตารางเมตร และมีค่าใช้จ่ายในการเดินระบบและบำรุงรักษาต่ำ

ในส่วนระบบบำบัดขั้นสุดท้าย (post-Treatment) คือการนำของเหลวที่ได้จากกระบวนการบำบัดในขั้นแรก (Food waste Pre-Treatment) มาทำการบำบัดต่อโดยกระบวนการย่อยสลายสองขั้นตอนแบบไม่ใช้ออกซิเจน (two stage Anaerobic Digestion) ซึ่งเป็นกระบวนการใช้เวลาทำงานประมาณ 14 วัน ภายใต้สภาวะไม่มีออกซิเจน และการควบคุม พีเอส อัตราการไหล และอุณหภูมิ ขยะอาหารจะกลายสภาพไปเป็นผลิตภัณฑ์ ก๊าซชีวภาพ น้ำมัน และกากอาหารโปรตีนสูง ซึ่งเทคโนโลยีทั้งหมดนี้ จะไม่ปล่อยของเสียออกจากระบบเลย

ปัญหาขยะอาหารได้ผลกระทบขึ้นแล้ว และนวัตกรรมแก้ปัญหานี้ก็เกิดขึ้นแล้ว แต่สิ่งที่เรายังต้องรอให้เกิดขึ้นต่อไปคือ ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมและสังคมดีขึ้น ซึ่งหน่วยเล็กๆ ในสังคมอย่างองค์กรหรือบริษัทต่างๆ สามารถลงมือทำได้เพราะ “ถ้ายังไม่มีใครริเริ่มก็จะมีเกิดผลในการลงมือทำเสียที” นวัตกรรมนี้เป็นเหมือนสิ่งเล็กๆที่มีผลตอนแทนที่ยิ่งใหญ่ที่เรียกว่า “ความยั่งยืน” นั่นเอง

ขอขอบคุณข่าวจาก : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ